วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษา

สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education ) มีจุดเริ่มต้นมาจากการประชุมที่เมือง ทบิลิซี ประเทศรัสเซีย ได้เน้นบทบาทของการศึกษาที่ประชาชน เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก และได้วางแนวทางหลักในการจัดการศึกษาขึ้น ซึ่งมีผู้ให้ความหมายสิ่งแวดล้อมศึกษาไว้หลากหลาย ดังนี้
Water E. Steidle (1971) ได้ให้ความหมายว่า สิ่งแวดล้อมศึกษา หมายถึง กระบวนการทางการศึกษา ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่อยู่โดยรอบ ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และมนุษย์สร้างขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างประชากร มลภาวะ ทรัพยากร การอนุรักษ์ การคมนาคม เทคโนโลยี การวางแผนเกี่ยวกับเมืองและชนบท กับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
สิ่งแวดล้อม อาจหมายถึง การชี้แนะแก่ประชาชน ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อยู่โดยรอบ และปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบมาสู่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามา มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ( Ed Labinowich , 1971 ) หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษาที่เน้นกระบวนการพัฒนาสาธารณชน ให้ได้รับความรู้ ในเรื่อง สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม ซึ่งอยู่โดยรอบตัวมนุษย์เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และรู้จักการ จัดการปัญหาเหล่านั้น (Mary Lynne Cox Bowman , 1974 )
ในทัศนะและการจำกัดความของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย วินัย วีระวัฒนานนท์ (2539) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นกระบวนการการศึกษาที่เน้นความรู้ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ เพื่อสร้างเจตคติ พฤติกรรม และค่านิยมในอันที่จะรักษาหรือพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของตนเอง และของมนุษย์โดยส่วนรวม
จากความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่า สิ่งแวดล้อมศึกษาเป็น กระบวนการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ผู้รับการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจถึงธรรมชาติและปัญหาที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม แล้วเกิดความตระหนัก เจตคติ และค่านิยม ในการรู้สึกมีส่วนร่วม และหาแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานั้น
♣ ความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษา
หากมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน คำว่า \"สิ่งแวดล้อมศึกษา\" คงยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าที่ควร หลายคนมักเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมถึงความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษา “สิ่งแวดล้อมศึกษา” แปลมาจากคำว่า “Environmental Education” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งได้มีการให้ความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษาไว้มาก แต่ความหมายหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางนั้น ได้มาจากการประชุมที่เมืองทบิลิซี่ (Tbilisi) ประเทศสหภาพโซเวียต เมื่อปี พ.ศ. 2520 ซึ่งสรุปความหมายของคำว่า “สิ่งแวดล้อมศึกษา” ไว้ว่า
“สิ่งแวดล้อมศึกษา คือ กระบวนการที่มุ่งสร้างให้ประชากรโลกมีความสำนึกและห่วงใยในปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มีความรู้ เจตคติทักษะความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นที่จะหาทางแก้ไขปัญหาที่เผชิญอยู่ และป้องกันปัญหาใหม่ ทั้งด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือกับผู้อื่น” จากนิยามข้างต้น ทำให้หลายคนมองว่า สิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” เพราะสิ่งแวดล้อมศึกษามิใช่เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูล ความรู้ หรือให้การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราเท่านั้น แต่จะครอบคลุมถึงการใช้เทคนิค วิธีการ หรือ กระบวนการที่จะพัฒนาคนให้เกิดจิตสำนึกและห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น มีเจตคติที่ดี มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
♣ เป้าหมายและวัตถุประสงค์
เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของสิ่งแวดล้อมศึกษา เป้าหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ให้เกิด การลงมือกระทำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ทั้งโดยการ ปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม และการป้องกันปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการลงมือกระทำนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้กระทำเอง (ไม่ใช่การบังคับให้ทำหรือต้องจำใจทำ) ซึ่งกระบวนการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ระยะเวลา โดยเฉพาะพฤติกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการในการพัฒนาจาก “ไม่รู้” เป็น “รู้”, จาก “รู้” เป็น “รู้สึก”, จาก “รู้สึก” เป็น “คิดจะทำ” และ จาก “คิดจะทำ” ไปสู่ “การ ลงมือกระทำ” จนเกิดเป็นพฤติกรรม
หลายครั้งที่การจัดสิ่งแวดล้อมศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการลงมือกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียง “กิจกรรม” ไม่ใช่ “พฤติกรรม” ซึ่งขั้นตอนหรือกระบวนการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ให้ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้ดำเนินการควรเน้นให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ข้อของสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ ความรู้ ความเข้าใจ, ความตระหนัก, เจตคติ, ทักษะ และ การมีส่วนร่วม
♥ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพื้นฐานการทำงานของธรรมชาติ ระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ รวมทั้งแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
♥ความตระหนัก ถึงปัญหาและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความรู้สึกรัก หวงแหน มีจิตสำนึก และเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
♥เจตคติ และ “ค่านิยม” ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะปกป้อง รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพที่ดี แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ และป้องกันปัญหาใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
♥ทักษะ ที่ควรให้มีการพัฒนา ได้แก่ ทักษะการสังเกต การชี้บ่งปัญหา การเก็บข้อมูล การตรวจสอบ การวางแผน การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา รวมถึงทักษะในการตัดสินใจซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งด้านสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในปัจจุบัน
♥การมีส่วนร่วม ทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม จะช่วยให้มนุษย์มีประสบการณ์ในการนำความรู้และทักษะที่ได้รับมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรจะจัดให้กับใคร
สิ่งแวดล้อมศึกษาควรจะจัดให้กับใคร ? สิ่งแวดล้อมศึกษาคือ “เครื่องมือ” ที่สำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยกระบวนการทางการศึกษา
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราควรจะจัดสิ่ง แวดล้อมศึกษาให้น่าจะเป็นกลุ่มนักเรียนซึ่งอยู่ในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่หากลองพิจารณาถึงเป้าหมาย และหลักการของสิ่งแวดล้อมศึกษาแล้วจะพบว่า เป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ การพัฒนา คุณภาพของ “ประชากรโลก” โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอด ชีวิตที่เริ่มตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนต่อเนื่องไปทุกระดับ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
ดังนั้นสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ดี จึงไม่ควรจำกัดกลุ่มเป้าหมายอยู่เฉพาะกลุ่มนักเรียนในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่ควรจะจัด ให้กับประชาชนทุกคน (ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ) ตามความเหมาะสม
♣ แนวทางการจัดสิ่งแวดล้อมศึกษา
แนวทางการจัดสิ่งแวดล้อมศึกษา สิ่งแวดล้อมศึกษาสามารถจัดได้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนโดยแนวคิดในการจัดสิ่งแวดล้อมศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น จะต้องกำหนดประเด็นหรือเนื้อหาสาระให้สอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากในแต่ละบุคคลคนจะมีระดับความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ ระดับความสนใจ ความพร้อมของบุคคล อาชีพ ประสบการณ์ สภาพแวดล้อม รวมถึงการศึกษา ฯลฯ
ซึ่งนอกจากการกำหนดประเด็นและเนื้อหาให้เหมาะสมแล้ว การเลือกใช้วิธีการหรือกระบวนการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะเด็กกับผู้ใหญ่ย่อมมีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างกัน คนในเมืองกับคนในชนบทก็มีความสามารถในการรับรู้และเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นกระบวนการหรือวิธีการที่ใช้จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสม หรือแม้กระทั่งภาษาที่ใช้ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายด้วยเช่นกัน
♣ การจัดสิ่งแวดล้อมศึกษาให้กับเด็ก
จากงานวิจัยของ Jean Piaget นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าการเรียนรู้ของคนจะพัฒนาไปตามลำดับขั้น โดยจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ จริยธรรม และความรู้เดิม ซึ่ง Jean Piaget ได้จัดกลุ่มของพัฒนาการการเรียนรู้ไว้ดังนี้
--» อายุตั้งแต่ 18 เดือนถึง 7-8 ปี (เด็กเล็ก)
สามารถใช้ภาษาในการสื่อสาร ใช้วิธีการลองผิดลองถูก สามารถวาดภาพที่พวกเขาได้เคยสัมผัสมาก่อน รวมทั้งสามารถใช้สิ่งของเพื่อแทนของอีกสิ่งหนึ่ง (เช่น ใช้กิ่งไม้แทนสัตว์) แต่ยังไม่สามารถพัฒนากระบวนการคิดโดยใช้เหตุผลและคิดอย่างมีหลักเกณฑ์ได้
สิ่งที่ผู้จัดสิ่งแวดล้อมศึกษาควรคำนึงถึง : ยังไม่ควรใช้กิจกรรมที่ซับซ้อนเกินไป แต่ควรเน้น กิจกรรมที่ใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์นอกห้องเรียน และที่สำคัญจะต้องเริ่มให้เด็กรู้ถึงพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม
--» อายุตั้งแต่ 7-8 ปี ถึง 11-12 ปี (เริ่มใช้เหตุผล)
เด็กจะเริ่มรู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาง่าย ๆ สามารถจัดกลุ่มและแยกประเภทของต่าง ๆ เข้าใจกฎระเบียบและคำสั่ง แต่ยังมักใช้ข้อเท็จจริงเป็นตัวตัดสินปัญหา
สิ่งที่ผู้จัดสิ่งแวดล้อมศึกษาควรคำนึงถึง : เด็กพร้อมที่จะรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้น สามารถแยกประเภท เปรียบเทียบ รวบรวม และอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาได้ไปสังเกตมา กิจกรรมที่ใช้ ควรเน้น ด้านความรู้และเจตคติ โดยเปิดโอกาสให้เด็กรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ สามารถใช้กิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการการคิดที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้ เช่น การสำรวจหาเหตุผล การชี้ตัวผู้กระทำผิด รวมทั้งสามารถใช้กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่ตามมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
--» อายุตั้งแต่ 11-12 ปี ถึง 14-15 ปี (ใช้ความคิดในแง่นามธรรม)
เด็กจะเริ่มคิดในแง่นามธรรม สามารถตั้งสมมติฐานและใช้เหตุผลในการสรุป เริ่มมีกระบวนการคิดแบบผู้ใหญ่ ดังนั้นหากเขาได้รับการสอนหรือการชักจูงที่ดี ก็จะสามารถวิเคราะห์เหตุ-การณ์และความน่าจะเป็น ความสัมพันธ์ การใช้เหตุผล และทักษะการคิดอื่น ๆ ที่สูงขึ้นได้
สิ่งที่ผู้จัดสิ่งแวดล้อมศึกษาควรคำนึงถึง : เด็กสามารถเลือกพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ได้ สามารถคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ซับซ้อนขึ้น สามารถจินตนาการถึงสิ่งที่น่าจะเป็นได้มากกว่าสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังควรต้องช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดเชิงสร้างสรรค์ ควรทำความเข้าใจถึงบทบาทของพวกเขาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ เด็กในช่วงอายุนี้ยังชอบตัดสินเองว่าอะไรถูกหรือผิด ดังนั้นการแสดงละคร การใช้บทบาทสมมติ การจำลองสถาน-การณ์ การออกแบบสอบถาม การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การอภิปราย และกิจกรรมอื่น ๆ จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี
--» อายุตั้งแต่ 14-15 ปีขึ้นไป (การคิดในระดับสูง)
เด็กสามารถออกแบบการทดลอง เขียนสมมติฐานที่มีตัวแปรหลายตัว และทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนขึ้นได้
สิ่งที่ผู้จัดสิ่งแวดล้อมศึกษาควรคำนึงถึง : ยังควรทำกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และเชิงสร้างสรรค์ต่อไป ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ การเขียนจูงใจ และทักษะในระดับสูงอื่น ๆ
เด็กควรจะได้รับรู้ถึงบทบาทของตนในฐานะประชากรที่ต้องมีความรับผิดชอบ และเริ่มสร้าง จริยธรรมของตนเอง และ ควรสนับสนุน ให้เด็กได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนการประชุมต่าง ๆการทำวิจัย การเขียนรายงาน และการวิเคราะห์สื่อต่าง ๆ
จากแนวคิดข้างต้น คงจะช่วยให้ผู้จัดสิ่งแวดล้อมศึกษาสามารถเลือกใช้วิธีการหรือกระบวนการที่เหมาะสมกับเด็ก (ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน) ในแต่ละระดับอายุได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้าจัดให้กับเด็กในระบบโรงเรียน กิจกรรมที่เลือกใช้ควรสอดคล้องกับหลักการและแนวคิดของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ เน้นประเด็นปัญหาในท้องถิ่น สอนแบบบูรณาการ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการปฏิบัติจริงจากประสบการณ์ตรง เน้นการฝึกทักษะการตัดสินใจ การวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา และที่สำคัญควร ปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรม ควบคู่ไปด้วยตลอดเวลา
สิ่งแวดล้อมกับวัดวิโรจนาราม,

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัตถุมงคลรุ่นนี้ มีเหรียญรูปเหมือน พ่อท่านเขียว หลวงพ่อผุด